ประวัติความเป็นมา ตำบลกาหลง



    
กำเนิดของบ้านกาหลง ได้ยินมาว่าสมัยหนึ่งในคลองบ้านบ่อนี้ พื้นที่เต็มไปด้วยป่าไม้ตะบูน และไม้เบญจพรรณ บ้านกาหลงนี้ก็เป็นป่าไม้ฟืนดังกล่าว มีครอบครัวหนึ่ง มีนิวาสสถานอยู่บริเวณริมคลอง มีสองผัวเมียมีอาชีพในทางตัดฟืนขาย วันหนึ่งสองผัวเมียนำเรือไปตัดฟืนตอนเช้าตามปกติถึงชายคลองไม่ไกลจากบ้าน ได้ยินเสียงกาซึ่งเกาะอยู่ที่ต้นไม้เตี้ยๆ ริมตลิ่งตัวหนึ่งร้องกาๆ แล้วก็บินไปบินมาวนเวียนเกาะจากไม้ต้นนี้แล้วก็โผไปไม้ต้นโน้น สองผัวเมียก็พายเรือเพื่อเข้าไปดู พลันได้ยินเสียงเด็กร้องจ้าขึ้น สองผัวเมียก็สะดุ้งจึงเข้าไปดูพบทารกเพิ่งเกิด เป็นหญิงกำลังดิ้นและร้องตามประสาเด็ก ห่อผ้าวางทิ้งไว้ในกอหญ้า จึงเข้าไปอุ้มเด็กนำมาลงเรือ เมื่อเอาเด็กมาแล้วกาก็บินไป สองผัวเมียได้เที่ยวถามผู้คนที่อยู่แถบคลองนั้นก็ไม่รู้ว่าเป็นลูกใคร จึงได้เลี้ยงดูอย่างดี เหมือนบุตรตัวเอง สองผัวเมียให้ชื่อว่า กาหลง ตามเหตุการณ์ที่ประสบมาผิวดำอย่างกา และมี กา มาเฝ้าคอยคุมอยู่ ส่วน หลง ก็หมายถึงเด็กนี้พลัดพ่อพลัดแม่ เด็กหญิงเมื่อโตขึ้นก็ช่วยพ่อแม่ทำมาหากินเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงจนกระทั่งสาว แม้ตัวจะดำก็มีใจบริสุทธิ์ ในหมู่บ้านมีครอบครัวหนึ่ง มีสภาพพอมีพอกินทัดเทียมกับครอบครัวเด็กหญิงกาหลง เป็นคนมีอาชีพทางตัดฟืน และเป็นคนประพฤติดีเรียบร้อย ทั้งสองฝ่ายได้สมรสเป็นสามีภรรยากันมีอาชีพตัดฟืนขาย และเก็บหอมรอมริบจนตั้งตัวร่ำรวยขึ้น เมื่อพ่อแม่ของทั้งสองฝ่าย ล่วงลับไปแล้ว นางกาหลงกับสามี ก็บำเพ็ญกุศลและชวนพวกชาวบ้านใกล้เรือนเคียงสร้างสำนักสงฆ์ขึ้นใช้ที่ดินที่เป็นบ้านของพ่อแม่ นั้นสร้างสำนักสงฆ์ขึ้นด้วยความกตัญญู เรียกว่า วัดกาหลง แต่นั้นมา ต่อมาวัดกาหลงก็มีผู้ศรัทธาทำนุบำรุงจนเป็นหลักฐาน มั่นคงในพระพุทธศาสนาตราบจนทุกวันนี้

ความเป็นมาขององค์การบริหารส่วนตำบลกาหลง

ตามมาตรา 40 และ มาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 บัญญัติให้จัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล และให้โอนบรรดางบประมาณทรัพย์สิน สิทธิ สิทธิเรียกร้อง หนี้ และเจ้าหน้าที่ของสภาตำบลไปเป็นขององค์การบริหารส่วนตำบล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจึงให้สภาตำบลกาหลงจัดตั้งเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลกาหลง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 16 เดือน ธันวาคม พ.ศ. 2539 และต่อมาองค์การบริหารส่วนตำบลกาหลง ได้ยกฐานะเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลขนาดใหญ่เมื่อวันที่ 24 เดือน กรกฎาคม พ.ศ.2554 ตามประกาศองค์การบริหารส่วนตำบลกาหลง ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2554

Thai Arabic Chinese (Traditional) English French German Indonesian Japanese Korean Vietnamese




 

ลิขสิทธิ์ © 2558-2564 องค์การบริหารส่วนตำบลกาหลง จังหวัดสมุทรสาคร. สงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งหมด.
องค์การบริหารส่วนตำบลกาหลง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร โทร 0-3444-0914-5
 

นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล